สุนัขใช้งานสากล
“สุนัขใช้งานสากล หรือ สุนัข IGP” เดิมมีชื่อว่า IPO และยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “สุนัขอารักขา” (Schutzhund) เป็นกีฬาสุนัขที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในประเทศฝั่งยุโรป กีฬาชนิดนี้พัฒนามาจากการเป็นแบบทดสอบสุนัขสายพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีที่สุดสำหรับนำมาเป็นสุนัขใช้งานโดยเฉพาะ (Working dog) ซึ่งในแบบทดสอบนั้น
จะประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่
สะกดรอย (Tracking)
เป็นการทดสอบทักษะการดมกลิ่นของสุนัข โดยกติกากำหนดไว้ว่า สุนัขต้องเดินตามรอยเท้าของผู้วางรอยผู้จูงทำได้เพียงเดินตามสุนัขด้วยการจับปลายสายจูงระยะยาว 10 เมตร และห้ามควบคุมสุนัขทุกกรณี เมื่อเจอสิ่งของที่ถูกทิ้งไว้จำนวน 3 ชิ้น ซึ่งกำหนดไว้ว่าเป็น หนังสัตว์แท้ ไม้แท้ และ พรมสุนัขต้องแสดงพฤติกรรมที่สื่อว่าพบสิ่งของ และต้องแสดงพฤติกรรมต่อสิ่งของทั้ง 3ชิ้น ถึงจะนับว่าครบตามเกณฑ์ที่กำหนด และในตอนจบต้องนำสิ่งของมาแสดงให้กรรมการเห็น ขั้นตอนนี้กำหนดให้ต้องได้อย่างน้อย 70 คะแนน
เชื่อฟังคำสั่ง (Obedience)
เป็นการทดสอบความสามารถในการเชื่อฟังคำสั่ง สุนัขต้องทำตามคำสั่งด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ รวดเร็ว และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ตัวอย่างการทดสอบที่ปฏิบัติในขั้นตอนเชื่อฟังคำสั่ง เช่น
- สั่งให้นั่งแล้วเดินต่อ (Sit out of motion) ผู้ควบคุมสั่งให้สุนัขนั่งรอ แต่ตัวผู้จูงยังเคลื่อนไหวต่อไปด้วยการเดิน
- การเดินชิดข้าง (Heeling) ตามเส้นทางที่กำหนด
- การคาบดัมเบลกลับจากพื้น (Retrieve on the Flat) ผู้ควบคุมสั่งให้สุนัขคาบดัมเบลที่ตนเองโยนไปแล้วนำกลับมาให้ ฯลฯ
ขั้นตอนนี้จะมีผังการเดิน และแบบฝึกหัดที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งกำหนดไว้อย่างละเอียดและเป็นแบบแผน
ผู้ควบคุมสุนัขต้องควบคุมสุนัขให้ทำตามได้อย่างถูกต้อง
อารักขา / ต่อสู้ป้องกัน (Protection)
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนเดียวที่สามารถทดสอบคุณสมบัติที่ถ่ายทอดผ่านทางสายเลือดในสุนัขใช้งาน เป็นขั้นตอนที่กีฬาชนิดนี้ให้ความสำคัญมากที่สุด สังเกตได้ว่าในขั้นตอนสะกดรอยและเชื่อฟังคำสั่งระดับคะแนนต้องได้ไม่ต่ำกว่า 70 คะแนน แต่ในขั้นตอนอารักขาต่อสู้ป้องกันนั้นต้องไม่ต่ำกว่า 80 คะแนน โดยในการทดสอบจะมีแบบฝึกหัดให้ปฏิบัติตาม เน้นไปที่การทดสอบความกล้าหาญและจิตประสาท (Temperament) ของสุนัขใช้งาน
ตัวอย่างการทดสอบที่ปฏิบัติในขั้นตอนต่อสู้ป้องกัน เช่น
- ค้นหาผู้ล่อกัด (Search for the helper) ที่ซ่อนอยู่ในซุ้ม (Blind)
- เฝ้าและเห่าคุม (Hold and Bark) เมื่อสุนัขเจอผู้ล่อกัด จะต้องเห่าแจ้งเตือนอย่างมั่นใจ ข่มขวัญผู้ล่อกัดอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีคำสั่งเพิ่มเติม
- ยับยั้งผู้ล่อกัดเมื่อหลบหนี (Prevention of Attempted Escape) เมื่อผู้ล่อกัดเริ่มวิ่งหนี สุนัขที่หมอบรออยู่จะต้องวิ่งตามไปกัดปลอกแขน และสุนัขต้องปล่อยปลอกแขนทันที การกัดต้องกัดที่ตำแหน่งปลอกแขน (Bite sleeve) เท่านั้น
ซึ่งแบบทดสอบลักษณะเดียวกันกับขั้นตอน C นี้ ได้นำไปใช้ในการประเมินในงานประกวดสุนัขสวยงาม (งานใหญ่ประจำปี) เราเรียกแบบทดสอบนี้ว่า TSB หมายถึง ความกล้าหาญ ความอึด อดทน ความมั่นคงทางอารมณ์ ไม่หวั่นไหวแม้อยู่ในสถานะการณ์ตึงเครียด มีความมุ่งมั่นตั้งใจยืนหยัดและกล้าเข้าจู่โจมเมื่อถูกรุก จิตประสาทที่เข้มแข็งมั่นคงจากภายในตัวสุนัขเองไม่ใช่การฝึกให้แสดงออก แต่แสดงถึงคุณภาพที่แท้จริงของตัวตนสุนัข
ผู้ฝึกไม่สามารถฝึกให้สุนัขทำงานอารักขาได้ดี หากสุนัขไม่มีแรงขับ (Drive) ความมุ่งมั่นความกล้าหาญและจิตประสาทที่มั่นคง เนื่องจากเป็นกีฬาที่พัฒนามาจากการเป็นแบบทดสอบคัดเลือกสายพันธุ์ รูปแบบการแข่งขันจึงเป็นการวัดความสามารถและมีขั้นตอนที่ค่อนข้างละเอียด หากทำได้จะถือว่าผ่านการทดสอบ ทำไม่ได้จะถูกหักคะแนน และผู้ที่ทำคะแนนได้มากที่สุดก็จะได้รับรางวัลไป โดยการจัดสอบ หรืองานแข่งขันนั้นขึ้นกับผู้จัดงานกำหนดทิศทาง แต่ควรอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและกติกาของ FCI ทั้งนี้แบบทดสอบในปัจจุบันจะแบ่งเป็นลำดับขั้น เรียงจากง่ายไปยาก ได้แก่ BH/VT - IGP1 – IGP2 – IGP3 สุนัขต้องผ่านการทดสอบในแต่ละขั้นก่อนที่จะไปแข่งลำดับขั้นที่สูงขึ้น ไม่สามารถข้ามลำดับได้